sponsor

sponsor

Slider

รูปภาพธีมโดย kelvinjay. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

สกู๊ปพิเศษ

ข่าวทั่วไป

อุบัติเหตุ/อาชญกรรม

ประชาสัมพันธ์

ถนน..พัฒนาการ

ข่าวกีฬา

ข่าวหางาน

» » » » ประวัติ ของ ศรีราชา รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ 100 ปี ศรีราชา รู้กันยัง คนศรีราชา ว่าทำไม ต้องสับปะรดศรีราชา แล้ว ทำไมต้องซอสพริกศรีราชา !!!!



ประวัติของศรีราชา
รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ 100 ปี ศรีราชา

      แต่ก่อนนั้นอำเภอศรีราชาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางละมุง (บ้านบางละมุง ในเขตอำเภอบางละมุงปัจจุบันนี้) จนเมื่อประมาณ 100 ปีเศษมานี่เอง เมืองบางละมุงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่บ้านบางพระแต่ก็ยังคงใช้ชื่อเดิมว่า เมืองบางละมุงมีพระยารักษา (เส็ง) เป็นเจ้าเมืองคนแรก

      ในขณะที่ตั้งเมืองบางละมุง ระบบการบริหารราชการในแผ่นดินขณะนั้นยังไม่มีระบบอำเภอ ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นมณฑล จึงได้ย้ายเมืองบางพระไปตั้งอยู่ที่บางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรีในปัจจุบัน และรวมเมืองพนัสเข้าด้วยกัน เรียกว่า เมืองชลบุรี

      ขณะที่เมืองบางพระนั้นได้ตั้งเป็นอำเภอเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2473 เรียกว่า อำเภอบางพระและดำรงสถานะนี้ได้ประมาณ 9 ปี โดยมีนายอำเภอทั้งสิ้น 3 คน

      พ.ศ. 2443 (ร.ศ. 119) จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้มาทำโรงเลื่อยไม้ห่างจากตัวเมืองบางพระไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยใช้ชื่อว่า บริษัทศรีราชาทุน จำกัดต่อมาเมื่อบริษัทโตขึ้นก็มีคนงานมากขึ้น และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จนในปี พ.ศ. 2446 จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ได้กราบทูลขอย้ายอำเภอบางพระมาตั้งที่ศรีราชา แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอบางพระเช่นเดิมและในปี พ.ศ. 2460 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอศรีราชา โดยมีหลวงบุรีรัตถคามบดีเป็นนายอำเภอคนแรก
ด้านกายภาพ

      อำเภอศรีราชา มีพื้นที่รวม 643,611 ตร.กม. ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเนิน เหมาะแก่การทำการเกษตรและอุตสาหกรรม มีที่ลาดลุ่มทำนาได้บางส่วน อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 105 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดชลบุรี 24 กิโลเมตร

·         ทิศเหนือ           จรดอำเภอเมืองชลบุรี
·         ทิศใต้              จรดอำเภอบางละมุง และอำเภอปลวกแดง จ.ระยอง
·         ทิศตะวันออก      จรดอำเภอบ้านบึง
·         ทิศตะวันตก        จรดอำเภอเกาะสีชัง

      ในฤดูฝน มีฝนตกชุกเนื่องจากอิทธิพลของลมทะเล ในฤดูร้อนก็ไม่ร้อนมากนัก ส่วนในฤดูหนาวก็ยังมีอากาศอบอุ่น จึงเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

ด้านการปกครอง

      แบ่งการปกครองเป็น 8 ตำบล 69 หมู่บ้าน มีเทศบาล 4 แห่ง คือ เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลตำบลแหลมฉบัง เทศบาลตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง แต่เดิมมีสุขาภิบาล 2 แห่ง คือ สุขาภิบาลอ่าวอุดม และสุขาภิบาลบางพระ ภายหลังปี พ.ศ.2537 จึงเปลี่ยนเป็น เทศบาลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ และเทศบาลตำบลบางพระ ตามลำดับ

      ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาได้แก่การประมง  และอุตสาหกรรม ในอนาคตอำเภอศรีราชาจะคับคั่งไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม การประกอบอาชีพของราษฎรคงจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานะการณ์
ด้านเกษตรกรรม

      การปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด มีมาก มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจดั้งเดิมที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง ปลูกมากที่ตำบลเขาคันทรง ตำบลบางพระ และตำบลบ่อวิน

      อำเภอศรีราชาได้ชื่อว่าปลูกมากที่สุดในจังหวัดชลบุรี โดยมีพื้นที่ปลูกกว่า 24,326 ไร่ นอกจากนั้นยังมีการปลูกพืชสวน เช่น มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ ด้วย


ด้านการประมง

      เนื่องจากศรีราชามีชายฝั่งทะเลยาวถือ 24 กิโลเมตร จึงเป็นแหล่งรวมทรัพยากรสัตว์ทะเลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ซึ่งปัจุบันมีผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่เปลี่ยนไป


ด้านอุตสาหกรรม

      ศรีราชามีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน นอกจากนั้นยังมีโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ เอสโซ่ และคลังน้ำมันปิโตเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแหลมฉบัง ถือเป็นแหล่งสร้างงานขนาดใหญ่กับชุมชนเลยทีเดียว

      ศรีราชา นับเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำให้ได้เลือกเที่ยวกัน สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นป่าใกล้เมืองที่รวบรวมสัตว์ไว้มากกว่า 200 ชนิดแห่งเดียวในภาคตะวันออก ในพื้นที่กว่า 5,000 ไร่

      น้ำตกเกษมสานต์ หรือน้ำตกชันตาเถร ซึ่งอยุ่ในความดูแลของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพักผ่อน นอกจากนี้ก็ยังมีสนามกอล์ฟชั้นดีอีก 6 สนาม ได้แก่ สนามกอล์ฟบางพระ สนามกอล์ฟกรีนเบย์ สนามกอล์ฟเมาเท่น แชค โด สนามกอล์ฟเขาเขียว สนามกอล์ฟบูรพา สนามกอล์ฟแหลมฉบัง สนามกอล์ฟเพรซเซ่น แวลลี่

      สถานที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งในอำเภอศรีราชาคือ เกาะลอยศรีราชา นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่คู่กับศรีราชามาช้านาน สวนสุขภาพริมเขื่อนหน้าเกาะลอยเป็นแหล่งพักผ่อน และออกกำลังกายของชาวศรีราชาและนักท่องเที่ยว

      แหลมฟาน เป็นถนนที่สร้างยื่นจากชายฝั่งไปเชื่อมกับแหลมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในทะเล เดิมเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อ และเป็นที่ดินแห่งเดียวในอำเภอศรีราชา ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฏหมาย

      เกาะสีชัง แต่เดิมอยู่ในความปกครองของอำเภอศรีราชา เป็นเกาะใหญ่อยู่ห่างจากฝั่งศรีราชาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 14 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 18 ตร.กม. ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2429 ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงให้ยุบเป็นกิ่งอำเภอเกาะสีชัง จากจังหวัดสมุทรปราการ มาขึ้นกับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2537 จึงถูกยกขึ้นเป็นอำเภอเกาะสีชัง

      เกาะสีชังนับว่าเป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ เนื่องจากเป็นสถานที่เสด็จประภาสและเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินถึง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่4 รัชกาลที่5 และรัชกาลที่ 6 นอกจากนี้แล้ว ศรีราชายังมีสถานที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ สวนเสือศรีราชา อ่างเก็บน้ำบางพระ ค่ายลูกเสีอวชิราวุธ และโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ฯลฯ



ประเพณีและวัฒนธรรม

      ประเพณีที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงศรีราชา คือ ประเพณีกองข้าว ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย ตามประวัติเล่าว่ามีการจัดพิธีกองข้าวขึ้นในหลายอำเภอ เช่น อำเภอเมือง อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง ครั้นต่อมาได้เลือนหายไปแต่ที่ศรีราชาที่ยังอนุรักษ์ได้อย่างเหนียวแน่น โดยพิธีกองข้าว จะทำกันเป็นงานประจำปีถือกันว่าเมื่อทำแล้วจะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เป็นการเชิญภูติผีทั้งหลายกินสำรับที่ชาวบ้านนำมาเพื่อที่ภูติผีเหล่านั้นจะได้ไม่ทำอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินหรือบ้านเมือง

      เมื่อใกล้กำหนดวันกองข้าว ชาวบ้านจะแบ่งกันว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น ชำระล้างปัดกวาด ตกแต่งศาลเจ้าพ่อ จัดเตรียมเครื่องบูชา เป็นต้น พอถึงวันกองข้าวชาวบ้านก็พากันไปยังศาลหลักเมือง (ปัจจุบันพิธีจัดขึ้นที่สวนสุขภาพเกาะลอย) ทำพิธีต่างๆ เกี่ยวกับการเชิญเจ้า เมื่อเจ้าประทับทรงแล้วก็จะทำการถามเจ้าว่าเย็นนี้จะนัดกองข้าวกันที่ไหน เจ้าที่เข้าทรงก็จะบอกสถานที่ให้ชาวบ้านได้ทราบทั่วกัน จึงเป็นอันเสร็จพิธี

      ส่วนงานในตอนเย็น เมื่อได้เวลาประมาณ 16.30 น. ชาวบ้านร้านตลาดก็จะพากันไปยังสถานที่ที่เจ้าได้บอกให้ทราบในตอนเช้า เมื่อมาถึงก็จัดแจงปูเสื่อ ตระเตรียมข้าวของ และในช่วงนี้ชาวบ้านจะพากันนำอาหารคาวหวานพร้อมด้วยข้าวสุกอย่างน้อย 1 ขัน มาทำพิธี

      เมื่อได้เวลา คนทรงก็จะไปที่ศาล ยกถาดบายศรีขึ้นรำถวายของแล้วสั่งให้เจ้าของสำรับแบ่งข้าวและกับที่นำมาออกมากองไว้ที่หน้าสำรับของแต่ละคน โดยใช้ใบตองและกระดาษปู  แล้วแบ่งข้าวสุก และกับข้าวลงในใบตอง มีคำอธิบายว่า ถึงปีหนึ่งๆ ก็นำอาหารมาเลี้ยงภูติผีปีศาจที่หิวโหยให้อิ่มหมีพีมัน 3 วัน เขาจะได้ไม่มารบกวน บ้านเมืองจะได้อยุ่เย็นเป็นสุข จึงต้องเรียกพิธีนี้ว่า พิธีกองข้าว

      จากนั้นชาวบ้านก็จะหาทำเลเหมาะๆ แล้วยกสำรับไปนั่งล้อมวงรับประทานร่วมกันเป็นที่สนุกสนาน เมื่อรับประทานกันอิ่มแล้วต่างคนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน โดยจะไม่นำอาหารที่เหลือกลับบ้าน แต่จะทิ้งไว้เพื่อเป็นทานแก่สัตว์ในบริเวณนั้น

      ประเพณีกองข้าวของพื้นที่อื่นๆ ได้เลิกล้างไปหลายสิบปีแล้ว แต่ประเพณีกองข้าวยังปรากฏอยู่ที่ศรีราชาเพียงแห่งเดียวในประเทศจนทุกวันนี้ ซึ่งจะจัดกันประมาณวันที่ 19-21 เมษายน ของทุกปี ความสวยงามของประเพณีนี้อยู่ที่ เมื่อกลุ่มคนจำนวนมากชักชวนกันรับประทานอาหาร ทักทายกันด้วยรอยยิ้ม แบ่งปันอาหารกันกินอย่างมีความสุข เกิดมิตรภาพไมตรี

      นี่คือประเพณีที่แปลก และหาดูได้ยากในที่อื่นๆ นอกจากที่ศรีราชาแห่งนี้
การละเล่นพื้นบ้าน

      การละเล่นพื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดจากอำเภอศรีราชา ได้แก่ มวยตับจาก และมวยทะเล โดยมวยป่าจากหรือมวยตับจากนั้นจะนิยมเล่นกันที่อ่าวอุดม ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา ซึ่งจะเล่นกันตามงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานสงกรานต์ งานทอดกฐิน เพราะแต่เดิมนั้นพิ้นที่บริเวณนี้นิยมปลูกต้นจากกันมาก จึงได้มีความคิดดับแปลงมาใช้เป็นอุปกรณ์การเล่น

      การเล่นมวยตับจาก ก่อนเล่นจะให้ไม้ปักสี่มุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสบนลานดินหรือสนามหญ้า แล้วใช้เชือกขึงระหว่างไม้เพื่อเป็นพื้นที่เวที แล้วนำใบจากแห้งมาปูพื้นเวทีให้หนาพอสมควร เมื่อเริ่มชกผู้เล่นทั้งสองฝั่งจะต้องใช้ผ้าผูกตาทำให้มองไม่เห็นเสียก่อน มีกรรมการห้าวบนเวทีหนึ่งคน เมื่อสัญญาณเริ่มให้ชก ผู้เล่นต้องอาศัยการฟังเสียงการเหยียบใบจากของคู่ต่อสู้ แล้วเตะต่อยได้เหมือนมวยไทย โดยจะชกกัน 3 ยก ยกละ 2 นาที พัก 3 นาที

      ผู้ชมเองก็จะส่งเสียงร้องบอกทิศทางแก่นักมวย ซึ่งนักมวยนั้นมองไม่เห็น จึงเกิดการต่อยผิด ต่อยถูก บางคราวพลาดไปถูกกรรมการจนเจ็บไปบ้าง เป็นที่สนุกสนานเฮฮากันมาก ถือเป็นการละเล่นไม่ได้ต่อยกันจริงๆ ใครๆก็เล่นได้

      ส่วนมวยทะเลนั้นเข้าใจว่าเกิดจากชาวประมงที่ว่างเว้นจากการงานเป็นผู้ริเริ่มขึ้น นิยมเล่นกันในงานเทศกาลต่างๆ เพื่อความสนุกสนานและฝึกความอดทน สิ่งที่ต้องเตรียมก็จะมีคานไม้กลม ความยาวประมาณ 2 เมตร ให้อยู่เหนือน้ำประมาณ 1 เมตร สำหรับให้นักมวยขึ้นไปนั่งคร่อมไว้ แล้วหันหน้าต่อยกัน หากฝ่ายใดตกน้ำก่อนถือว่าแพ้ มวยทะเลนี้ถือว่าเป็นการละเล่นที่สนุกสนานและเป็นที่นิยมของชาวบ้านมากชนิดหนึ่ง


โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา

      ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมาตั้งโรงไม้ที่ศรีราชา ถึงขณะนี้ก็อายุประมาณ 92 ปีแล้ว (จากหนังสือ 100 ปีศรีราชา ปี พ.ศ. 2537) เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพระประชวรหนัก พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้แปรพระราชฐานมาประทับ ณ เมืองชายทะเล

      ในขั้นแรกเสด็จมาประท้บที่บางพระ เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ มาทำไม้ที่ศรีราชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้มาประทับที่ศรีราชา โดยให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์ถวายการอารักขา

      สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หมอหลวงที่ถวายการรักษา ดูแลชาวบ้านที่มาขอความช่วยเหลือและต่อมาทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเยี่ยม จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลสมเด็จฯโดยโรงพยาบาลหลังแรกก่อสร้างขึ้นในทะเลตรงบริเวณหน้าชายหาดที่ประทับเป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก 5 หลัง ปลูกติดต่อเป็นหมู่เดียวกัน จากนั้น 5-6 ปี อาคารโรงพยาบาลในทะเลเริ่มทรุดโทรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ย้ายโรงพยาบาลมาสร้างบนบก ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน และพระราชทานเงินเป็นค่าก่อสร้างประมาณสองหมื่นบาท (ประมาณปี พ.ศ. 2541) โดยอาคารทั้งหมดเป็นอาคารไม้ มีอาคารหลังใหญ่อยุ่บริเวณหน้าผาชายทะเลบริเวณที่ตั้งตึกหะรินสุดในปัจจุบัน

      ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จได้ขยายตึกและเตียงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนนับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก มีดอกลั่นทมเป็นสัญลักษณ์ของโรงพยาบาล เนื่องจากสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงปลูกต้นลั่นทมไว้ในอาณาบริเวณนั่นเอง

      ยังมีเรื่องที่สืบเนื่องกันนี้อีกมากซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวน่าสนใจและแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวศรีราชาในอดีตได้เป็นอย่างดี จากบันทึกของนายแพทย์สุกรี อดีตแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จฯ ซึ่งแสดงส่วนหนึ่งไว้ในหนังสือ 100 ปี ศรีราชา หากท่านใดสนใจก็ขอเชิญไปหาอ่านได้จากห้องสมุดประชาชน
สับปะรดศรีราชา

      การกล่าวอ้างชื่อของ สับปะรดศรีราชาเพื่อเพิ่มมูลค่าของสับปะรดที่ขาย ไม่ว่านั่นจะเป็นสับปะรดศรีราชาจริงๆ หรือไม่นั้นดูจะเป็นสิ่งที่คนไทยหลายๆพื้นที่พบเห็นได้ชินตา

      สับปะรดศรีราชานี้ ดูย้อนไปได้ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำพันธุ์สับปะรดนี้มาเผยแพร่ก็คือ ท่านเจษฎาธิการเทโอฟาน (ชิน บุญยานันท์) อธิการคนแรกของโรงเรียนอัสสัมชันศรีราชา

      ในครั้งนั้น ทางการได้ประกาศปิดเรียนโดยไม่มีกำหนด ท่านจึงพาเด็กในอุปการะราวสิบกว่าคนออกจากอัสสัมชัญกรุงเทพฯ มาที่ศรีราชาและคิดจะใช้ประโยชน์จากที่ดินรกร้างของโรงเรียน เพื่อปลูกพืชที่คุ้มกับการลงทุนลงแรง แต่เนื่องจากดินของศรีราชาเป็นดินปนทรายและกันดารน้ำ ท่านจึงศึกษาค้นคว้าแล้วพบว่าสับปะรดเป็นพืชชนิดหนึ่งซึ่งเจริญได้ดีในดินลักษณะนี้

      แต่สับปะรดที่ชาวบ้านปลูกกันอยู่ลูกเล็ก รสไม่ดี ท่านจึงไปนำพันธุ์มาใหม่จากทางภาคใต้ และตั้งชื่อว่า พันธุ์ปัตตาเวียซึ่งมีผลโตกว่าสับปะรดพื้นบ้าน 4-5 เท่า รสหวานฉ่ำ ท่านชั่งขายตามน้ำหนัก กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งนับว่าแพงมากในสมัยนั้น แต่ก้ได้รับความนิยมอย่างมาก (บางลูกน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม) และให้ประทับตรา A.C. ซึ่งเป็นอักษรย่อของโรงเรียนอัสสัมชัญ ไว้ที่ขั้วสับปะรดทุกลูก จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า สับปะรดเอซี ภายหลังท่านอธิการได้จำหน่ายหน่อสับปะรดด้วย มีผู้สนใจซื้อไปปลูกก็มาก จนแพร่หลายไปทั่วศรีราชา และกลายเป็นสับปะรดศรีราชาที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วอย่างทุกวันนี้



ซอสพริกศรีราชา

      ชาวศรีราชารู้จัก น้ำพริกศรีราชาหรือ ซอสพริกศรีราชามากกว่า 80 ปีแล้ว ผู้คิดค้นสูตรขึ้นมาเข้าใจว่าเป็นเจ้าแรกของสูตรน้ำพริกอันโด่งดังก็คือ นายกิมซัว ทิมกระจ่าง (จากการรวบรวมข้อมูลของชมรมฯ) ซึ่งต่อมาได้ร่วมดองกับตระกูลเก่าแก่ของศรีราชาอีกตระกูลหนึ่งนั่นคือ ตระกูลจักกะพาก จึงอาจเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า นางถนอม จักกะพาก เป็นเจ้าของสูตรซอสพริกศรีราชาตรา ศรีราชาพานิช

      นางถนอมนั้นเป็นภรรยาของนายดำรง จักกะพาก โดยนางถนอมเป็นคนที่มีความสามารถด้านการบ้านการเรือนเป็นอย่างมาก ว่ากันว่า แต่เดิมนั้นนางถนอมทำน้ำพริกสูตรดังกล่าวสำหรับรับประทานกันในครอบครัว และแจกจ่ายเพื่อนบ้านเท่านั้นต่อมาเมื่อมีคนได้ชิมกันมากเข้าและเกิดติดอกติดใจจึงได้ทำจำหน่าย

      ในระยะแรกๆ ทุกขั้นตอนจะใช้แรงงานคนและสามารถผลิตได้วันละ 1 ตุ่ม เท่านั้น ด้วยความนิยมที่มากขึ้น ต่อมาจึงได้ใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยและได้จดทะเบียนเป็นซอสพริกศรีราชาพานิชในที่สุด

      หลังจากซอสพริกตรา ศรีราชาพานิชได้ถูกขายลิขสิทธิ์ไปแล้ว ทายาทของนางถนอมได้ออกซอสพริกตรา ถนอมขึ้นมาโดยคงใช้สูตรเดิมที่เคยทำมาและเป็นที่รู้กันว่าซอสพริกทั้งสองยี่ห้อนี้ก็คือน้ำพริกสูตรเดียวกันและมีต้นกำเนิดจากศรีราชาเหมือนๆ กัน

สามล้อเครื่อง

      เป็นอีกเรื่องที่น่าบันทึกไว้ เพราะในขณะปัจจุบันได้สูญหายไปเสียหมดแล้ว ดังที่ทราบกันว่าพื้นที่ของเมืองศรีราชานั้นเป็นเนินเขา รถสามล้อถีบไม่สามารถเอามารับส่งสินค้าหรือผู้โดยสารได้ เพราะปั่นขึ้นเนินไม่ไหว รถรับจ้างทั้งหลายจึงเป็นแต่ประเภทใช้เครื่อง

      สามล้อเครื่องของศรีราชานั้นมีมาเมื่อประมาณสัก 30 ปีมานี้เอง (จากหนังสือ 100 ปี ศรีราชา พ.ศ.2537) ไม่เป็นที่ยืนยันว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาในศรีราชาเป็นคนแรก ส่วนใหญ่บอกว่าระยะแรกนำเข้ามาจากเมืองแปดริ้ว จะหวัดฉะเชิงเทรา และด้วยที่เหมาะกับสภาพพื้นที่จึงเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา แรกๆก็ใช้เครื่องยนต์ที่ติดมากับรถ แต่เมื่อนานไปเครื่องยนต์เดิมเสื่อมสภาพไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมได้ จึงมีการนำเครื่องยนต์มาใส่และต่อตัวถังให้ใหญ่ขึ้น บางคนตั้งชื่อว่าสามล้อ สกายแล็ปสามล้อประเภทนี้วิ่งได้เร็วกว่ารถยนต์ในเครื่องยนต์ขนาดเดียวกัน เพราะตัวถังมีน้ำหนักเบากว่าแต่ขาดความปลอดภัย เนื่องจากขนาดเครื่องกับตัวถังไม่สมดุลกัน ต่อมาสามล้อเครื่องในศรีราชามีมากเป็นพันๆ คัน ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่มีทะเบียน ไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์โดยไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงได้ แต่ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารได้เนื่องจากมีการผ่อนผันระหว่างตำรวจกับผู้ประกอบการ

      ภายหลังสามล้อเครื่องมีมากขึ้นทุกที เกิดอู่สามล้อสกายแล็ปขึ้นหลายอู่ และมีการจัดตั้งรวมกลุ่มเป็นสมาคม ร่วมกันเรียกร้องและขอจดทะเบียนให้ถูกต้องแต่ก็จดไม่ได้ เพราะขัดกับหลักกฏหมาย กระทั่งประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา (จากหนังสือ 100 ปี ศรีราชา พ.ศ.2537) ได้มีกลุ่มบุคคลตั้งเป็นบริษัทนำสามล้อตุ๊กๆ เข้ามาวิ่งรับผู้โดยสารในตลาดศรีราชา แรกทีเดียวก็ยังไม่ได้รับความนิยมแต่ต่อมาชาวบ้านนิยมเพราะสะดวกและปลอดภัยกว่า คนขับเองก็ไม่ต้องตากแดด ตากฝน และมีทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย

      ในปี พ.ศ. 2536 กระทรวงคมนาคมเห็นว่าปัญหาสามล้อเครื่องกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ จึงได้มีคำสั่งให้กรมการขนส่งทางบกรับจดทะเบียนสามล้อเครื่องและสามล้อสกายแล็ปให้ถูกต้องตามกฏหมายภายในเดือน มีนาคม 2537 เป็นอันว่าสามล้อเครื่องในศรีราชามีโอกาสจดทะเบียนได้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ก็น่าเสียดายว่าภายในกำหนดที่ทางราชการเปิดให้ลงทะเบียนนั้น สามล้อเครื่องในศรีราชาก็แทบจะไม่เหลือแล้วเพราะชาวศรีราชาหันไปนิยมรถสามล้อตุ๊กๆ กันเสียหมด สามล้อเครื่องในศรีราชาจึงหายไปด้วยเหตุนี้
 บริษัทศรีมหาราชา

ต่เดิมบริษัทศรีมหาราชา ใช้ชื่อว่า บริษัทศรีมหาราชาทุนจำกัดโดยท่านจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นผู้ก่อตั้ง สถานที่ตั้งโรงเลื่อยครั้งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2443 โดยสร้างขึ้นที่บ้านเดิมของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตลาดเทศบาล

      เมื่อปี พ.ศ.2446 ได้ย้ายโรงเลื่อยมาสร้างใหม่ที่บริเวณตึกริมถนนเจิมจอมพล สุดรั้วบริเวณสำนักงานบริษัทศรีมหาราชา (ปัจจุบันคือบริเวณทางแยกตรงข้ามร้านตำโชว์ บก.) ด้านทิศใต้คือบริเวณต้นโพธิ์ใหญ่ๆ ตรงข้ามธนาคารกรุงเทพฯ สาขาถนนเจิมจอมพล

      ในปี พ.ศ.2451 ได้ย้ายโรงเลื่อยจากที่เดิมขยับขึ้นไปทางด้านทิศตะวันออก ด้านตะวันออกติดถนนสุขุมวิท และทิศตะวันตกติดถนนเจิมจอมพล โดยอยู่ที่นี่มาจนกระทั่งกลายเป็นบริษัทศรีมหาราชาและปัจจุบันเป็นโครงการศรีราชานครไปในที่สุด

      สำหรับประวัติการก่อตั้งนั้น จากหนังสือประวัติของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (จากนี้จะเรียกท่านเจ้าคุณ) ได้ขายที่ดินที่ตำบลบางรัก เมื่อ พ.ศ. 2443 ได้ประมาณ 100 ไร่เศษ และที่ดินบริเวณถนนรองเมืองอีก 100 ไร่ เพื่อนำเงินมาลงทุนตั้งบริษัททำไม้กับหลวงอุดร นายห้างกิมเซ่งหลี

      ในระหว่างออกปราบพวกเงี้ยว ท่านเจ้าคุณมอบหมายให้ห้างกิมเช่งหลีดูแลกิจการป่าไม้แทน เมื่อกลับมาจากทัพ ทางห้างได้ตั้งบัญชีว่าได้จ่ายเงินไป 750,000 บาท โดยไม่มีรายละเอียดการใช้จ่าย ท่านเจ้าคุณจึงได้ต่อว่าไป ทางห้างจึงยอมลดให้สองแสนบาท เหลือ 550,000 บาท ท่านเจ้าคุณจะฟ้องร้องเอาความก็เห็นแก่หลวงอุดร จึงยอมชดใช้เงินนั้นให้กับห้างกิมเช่งหลี จึงขอใช้ที่ดินที่ตำบลศาลาแดงชดใช้ให้แทนเงิน และได้ถวายที่ดิน 25 ไร่ พร้อมตึกบ้านพักพระประมวลและที่นาที่คลองรังสิตอีก 1,000 ไร่ ถวายใช้หนี้พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ด้วยสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าประทับรักษาตัวอยู่ที่ศรีราชาในขณะที่ท่านเจ้าคุณลงมือทำป่าไม้ จึงมีพระเมตตาให้ท่านเจ้าคุณยืมเงิน 200,000 บาท และได้ถวายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ต่อมาเจ้าคุณได้ขอพระกรุณาโอนหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้พระคลังข้างที่ จึงได้ถวายที่ดินดังกล่าวใช้หนี้ไป

      31 ธันวาคน พ.ศ.2451 บริษัทบอร์เนียวจำกัดสินใช้ ได้มาขอเข้าหุ้น โดยมาร่วมลงทุนทำการเป็นเงินหนึ่งล้านเจ็ดแสนบาท แต่ไม่ได้แบ่งผลประโยชน์ให้บริษัทศรีราชาฯ เลย ครั้นวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2456 ยังได้ทำการฟ้องบริษัทศรีราชาฯ ว่า เป็นหนี้อยู่อีก 500,000 บาทเศษ หากไม่สามารถชำระได้ภายใน 1 เดือน ขอให้ศาลบังคับให้ล้มละลาย

      บริษัทศรีมหาราชาได้สู้คดีจนถึงศาลฎีกาและชนะคดี แล้วฟ้องกลับว่าบริษัทบอร์เนียวฯ ผิดสัญญาโดยเรียกค่าเสียหายจากทุนทรัพย์และประโยชน์ที่ควรจะได้เป็นเงินสองล้านเจ็ดแสนบาท บริษัทบอร์เนียวยอมคืนบริษัทศรีราชาให้ โดยขอให้บริษัทศรีราชาฯ ให้เงินบริษัทบอร์เนียวอีก 300,000 บาท จากนั้นจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทศรีราชาเป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2456

      กิจการทำไม้ของบริษัทศรีราชาทุนจำกัด เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น แต่เดิมไม้ตะเคียน ไม้ขัน ไม้ชุมแพรก เป็นไม้ที่ไม่ได้รับความนิยม ยิ่งพวกไม้ยาง หรือไม้สะท้อนเขาเรียกกันว่าไม้สิงคโปร์ ราคาถูกมาก ขายได้พอค่าโสหุ้ย แต่นานวันชื่อเสียงของบริษัทศรีราชายิ่งโด่งดังจนคนที่เคยเรียกไม้สิงคโปร์หันมาเรียกไม้ศรีราชาแทน

      ในสมัยพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ท่านเจ้าคุณได้โอนกิจการทั้งหมดเป็นของพระคลังข้างที่ ต่อมาในวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2475 ท่านเจ้าคุณก็ถึงแก่อสัญกรรม

      ปี พ.ศ. 2476 เกิดอัคคีภัยเผาผลาญโรงเลื่อยของบริษัทศรีราชาพินาศลง กิจการของบริษัทได้สะดุดลงชั่วขณะหนึ่ง กระทั่งปี พ.ศ.2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฐ์ เป็นองค์อำนวยการบริหารกิจการนี้แทนพระคลังข้างที่ ได้โปรดเกล้าให้พระยามไหสวรรย์มาริเริ่มสร้างโรงเลื่อยขึ้นใหม่ในที่เดิม

      จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเลื่อยศรีราชาจึงตกอยู่ในความคุ้มครองของทางราชการทหารกระทั่งสิ้นสงคราม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ซื้อกิจการโรงเลื่อยศรีราชาทั้งหมดในปลายปี พ.ศ. 2489 และปรับปรุงสภาพในหลายด้าน โดยตั้งชื่อใหม่ว่า บริษัทศรีมหาราชา จำกัดและทำพิธีเปิดป้ายเมื่อ17 มีนาคม พ.ศ.2490

      โรงเลื่อยแห่งนี้ทำการผลิตไม้แปรรูปได้เดือนละ 600-700 ต้น ในขณะนั้นค่าใช้จ่ายยังต่ำ ทำให้ยังคงได้กำไรในการขยายงาน และนอกจากจะขายดีในจังหวัดพระนคร และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ระยะนี้ (พ.ศ.2490-2495) จังหวัดไกลๆ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ นิยมขอรับจำหน่ายไม้จากโรงเลื่อยศรีราชากันมาก การขนส่งโดยมากจะขนกันทางเรือ โดยบรรทุกรถไฟขนมาลงเรือที่สะพานเกาะลอย

      นอกจากสะพานรถไฟเพื่อขนส่งไม้แปรรูปที่เกาะลอยแล้ว บริษัทยังสร้างทางรถไฟเข้าไปขนไม้ในป่าสัมปทาน เส้นทางผ่านไร่กล้วย หนองค้อ หุบบอน เขาคันทรง ระเวิง ไปจนถึงเขตอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง รวมความยาวประมาณ 51.775 กิโลเมตร โดยมีทั้งหมด 7 สถานี

      จน 14 เมษายน พ.ศ.2501 ได้เริ่มเปิดบริษัทไม้อัดศรีราชาจำกัดขึ้นในบริเวณติดต่อกัน ผลิตไม้อัดเชฟวิ่งบอร์ด พินิชชิ่งไลน์ (ทีโกบอร์ด) และโรงงานในลักษณะบอร์ดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ต่อมาในปี พ.ศ.2507 คณะกรรมการได้กำหนดให้ 2 บริษัทใช้ทุนร่วมกัน และเพิ่มทุนจดทะเบียนนิติกรรมใหม่ รวมคณะกรรมการบริหารเป็นชุดเดียวกัน

      สมัยที่กิจการรุ่งเรือง เมื่อถึงฤดูทำบุญทอดกฐิน บริษัทศรีมหาราชาได้จัดงานประเพณี มีมหรสพให้ชมเกือบทุกชนิด ส่วนสำคัญและเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปคือ การแข่งขันกีฬาภายในของคนกองต่างๆ ของบริษัท และการแข่งขันกีฬาทางน้ำ มีเรือใบสมัยเก่ามาวิ่งแข่งกันที่หน้าเกาะลอย

      ประมาณ ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา การบริหารงานภายในบริษัทศรีมหาราชาล้มเหลว ประสบภาวะขาดทุนโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2527 บริษัทศรีมหาราชาจึงได้ปลดคนงานออกคราวเดียวถึง 592 คน โดยให้ทีมงานของบริษัทปูนซีเมนต์ไทยซึ่งเป็นบริษัทในเครือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาบริหารงานแทน โดยตั้งบริษัทขึ้นใหม่ชื่ บริษัทไทยนวภัณฑ์ จำกัด เว้นแต่โรงงานที่นอนสายรุ้งที่ยังขึ้นกับบริษัทศรีมหาราชาดังเดิม

      จากนั้นระยะหนึ่ง หนี้สินสะสมของบริษัทศรีมหาราชาเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ ที่สุดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องขายที่ดินของบริษัทศรีมหาราชาทั้งหมดประมาณ 140 ไร่ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้สะสมประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนที่ดินของบริษัทศรีมหาราชาได้ขายให้กับบริษัทศรีราชาคอมเพล็กซ์ จำกัด ด้วยราคาประมาณ 400 ล้านบาท และต่อมาบริษัทศรีราชาคอมเพร็กซ์ได้ขายต่อให้กับ 9 บริษัท ในเครือธนาคารศรีนคร และปรับปรุงที่ดินเป็นโครงการศรีราชานครจนกระทั่งทุกวันนี้

โรงเจศรีราชา

      เมื่อสมัยที่จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมาตั้งโรงไม้ที่ศรีราชานั้น ได้ว่าจ้างกรรมกรทั้งไทย จีน มาทำงานตัดไม้ ก่อสร้างโรงงาน สร้างทางรถไฟ ฯลฯ จำนวนมาก มีชาวจีนไหหลำรับผิดชอบเครื่องจักร จีนกวางตุ้งรับผิดชอบด้านก่อสร้าง กรรมกรชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่จะเข้าป่าตัดไม้ซุงมาส่งแปรรูปในโรงงาน สมัยนั้นพื้นที่ศรีราชายังเป็นป่าทึบอยู่มาก มีไข้ป่าชุกชุม ทำให้มีคนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก จนทางราชการต้องตั้งศูนย์กำจัดไข้มาลาเรียที่ศรีราชาเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออก

      ในขณะนั้น บริเวณที่ใช้เป็นป่าช้าก็คือบริเวณที่ตั้งโรงเรียนศรีราชา จนถึงบ้านพักนายอำเภอในปัจจุบันซึ่งยังเป็นป่าชายเลนอยู่นอกเมือง โดยมีศพถูกฝังไว้มากมายหลายร้อยศพ เวลาต่อมาทางราชการได้สร้างที่ทำการอำเภอและสถานีตำรวจขึ้นในบริเวณนั้น จนราวปี พ.ศ. 2468 ทางราชการก็มีความประสงค์จะพัฒนาบริเวณป่าชายเลนที่เป็นป่าช้า ให้เป็นสนามบิน นายอำเภอในขณะนั้นคือ หลวงชลธาร ขารุรักษ์ ก็สั่งให้จัดการเครียร์พื้นที่ โดยว่าจ้างสัปเหร่อมาขุดศพ ขุดอัฐิขึ้นมาประกอบพิธีฌาปณกิจศพแล้วนำไปลอยอังคารในทะเล

      ทว่าหลังดำเนินการขุดศพได้เพียง 2-3 วัน ก็มีการเล่าต่อกันมาว่าเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ขึ้น คือที่ว่าการอำเภอและสภานีตำรวจซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับป่าช้า เกิดลมพัดเย็นยะเยือก ภูติผีปรากฏกายในลักษณะต่างๆ เปล่งเสียงร้องโหยหวน ข้าราชการอำเภอ ตำรวจและลูกเมียต่างโดนผีหลอกหลอนเป็นประจำ สร้างความเดือดร้อนกันเป็นอันมาก

      เมื่อทราบข่าว นายอำเภอจึงสั่งให้หยุดการขุดศพ แล้วเชิญพ่อค้าประชาชนทั้งชาวไทย ชาวจีน มาปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดก็มีผู้แนะนำว่า นายโค้วอัวซิม และนายโค้วเซ่งจง ซึ่งเป็นชาวบ้านไซน้า อำเภอโผวเล้ง จังหวัดแต้จิ๋ว ประเทศจีน ซึ่งอพยพมาหากินที่เมืองไทย ประกอบอาชีพหาบเร่ ระหว่างศรีราชา หนองมนเมื่อครั้งยังอยู่ประเทศจีนได้เคยร่วมกันจัดเก็บอัฐิและฌาปนกิจศพผีไม่มีญาติ มีความรอบรู้จัดเจนทางด้านนี้ พร้อมกับได้อัญเชิญ เฮียห้วยหรือเถ้าธูปจากศาลเจ้าโป๊ยเซียนโจวซือจากประเทศจีนติดตัวมาด้วย

      นายอำเภอศรีราชาจึงให้คนไปเชิญนายโค้วอัวซิม และนายโค้วเซ่งจงมาปรึกษา ทั้งสองได้อัญเชิญเฮียห้วยมากราบไหว้และเข้าทรงไม้เทวบัญชา ซึ่งชาวจีนเรียกว่า กั้งกีทำพิธีฌาปนกิจเก็บศพไร้ญาติครั้งแรกเมื่อคืนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2468  ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อสมุทรดำในปัจจุบัน ในตลาดศรีราชา เจ้าที่มาเข้าทรงครั้งแรกในวันนั้นชื่อ ซาซัวก๊กอ้วงซึ่งเป็นเจ้าที่ชาวแต้จิ๋วนับถือเจ้าซาซัวก๊กอ้วงได้สั่งให้สร้างปะรำพิธีขึ้นที่สุสานข้างค่ายลูกเสือวชิราวุธ ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 และได้เชิญเจ้าทุกองค์ขึ้นสถิตบนปะรำพิธี

      การล้างป่าช้าเก็บศพไร้ญาติในครั้งแรกใช้เวลานานถึง 6 เดือนเต็ม และได้สร้างฮวงซุ้ยขนาดใหญ่ประกอบพิธีฝัง เมื่อเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน จึงเป็นอันเสร็จพิธีการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น

      หลังเสร็จพิธี เตาธูปบูชาหรือที่ชาวจีนเรียกว่า กิมโล้วได้ถูกอัญเชิญมาฝากไว้ที่ห้องแถวไม้ในตลาดศรีราชา ต่อมาคณะกรรมการได้เลือกนายอาวเหลียงฮะเป็นผู้จัดการลงมือก่อสร้างศาจเจ้า จิ๊วเยี่ยงไท้ขึ้นที่ถนนเจิมจอมพล คือศาลเจ้าสมุทรดำในปัจจุบัน

      ในปีต่อมา อำเภอศรีราชาเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ คือ กาฬโรค ในขณะนั้นแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา แล้วก็ตาม แต่ก็ยังขาดยารักษาโรคเฉพาะ และวัคซีนป้องกันเชื้อจากโรคระบาด จึงทำให้พลเมืองชาวศรีราชาเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ถัดมาอีกหนึ่งปีก็เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ ตลาดศรีราชาถูกไฟไหม้อยู่นาน ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง สมัยนั้นห้องแถวอาคารพาณิชย์ล้วนแต่เป็นไม้ทั้งสิ้น ชั่วเวลาไม่นานตลาดทั้งตลาดก็กลายเป็นทะเลเพลิง ส่วนที่รอดพ้นไปได้อย่างหวุดหวิดก็คือตลาดเทศบาล

      พ.ศ. 2476 ได้มีพิธีล้างป่าช้า เก็บศพไร้ญาติขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้สุสานใกล้ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ประกอบพิธีเช่นเดิม โดยดำเนินพิธีการอย่างประหยัด เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุขึ้นสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่คณะกรรมการและชาวบ้านก็ได้ช่วยกัน จนงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี การล้างป่าช้าครั้งนี้ใช้เวลา 36 วัน

      ต่อมาพิธีการล้างป่าช้าได้กลายเป็นประเพณีนิยม เพราะถือว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลที่ยิ่งใหญ่ และพิธีนี้ยังแพร่หลายไปยังศาลเจ้าต่างๆทั่วประเทศ ส่วนที่ศรีราชาเองก็จะมีพิธีล้างป่าช้าเก็บศพไร้ญาติประมาณ 10 ปีต่อครั้ง0

      กระทั่งในสมัยต่อมา ในปี พ.ศ. 2503 คณะกรรมการศาลเจ้าศรีราชาพร้อมใจกันสร้างโรงเจ เช็งฮกตั๊วขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวจีนที่ศรีราชา เพราะสมัยก่อนจะต้องเดินทางไปที่โรงเจเป้าฮ๊กตั้งที่ชลบุรี ปี พ.ศ. 2507 มีแนวคิดปรับปรุงถนนในเขตเทศบาลให้กว้างขวางขึ้นและศาลเจ้าพ่อสมุทรดำได้สร้างล้ำออกมาในแนวถนนเจิมจอมพล จึงขอให้ถอยร่นเข้าไป คณะกรรมการมีมติเห็นชอบตามที่ราชการเสนอมา จึงให้รื้อถอนศาลเจ้าเก่าแล้วดำเนินการก่อสร้างใหม่เป็นอาคารถาวรแบะสวยงาม มากระทั่งทุกวันนี้

      ขณะที่รื้อศาลเจ้าพ่อสมุทรดำ คณะกรรมการเห็นว่าสถานที่นี้คับแคบกว่าเดิม จึงได้ปรีกษากันว่าจะสร้างศาลเซียนซือแห่งใหม่ภายในโรงเจเช็งฮกตั้ว สำหรับประทับองค์โป๊ยเซียนโจวซือ และก่อสร้างเรียบร้อยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508

      ต่อมาทางราชการมีนโยบายให้ศาลเจ้าต่างๆ ตั้งเป็นมูลนิธิหรือสมาคมให้ถูกต้องตามกฆหมาย และอนุญาตให้โรงเจศรีราชาเป็นสมาคมได้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2512 ได้ใช้ชื่อว่า สมาคมพุทธมามกสว่างประทีปปรรมสภานชื่อภาษาจีนส่า เม่งต็งเซี่ยงตั๊ว

      ปัจจุบัน (พ.ศ. 2537) ประเทศไทยมีสมาคมพุทธมามก คือ เม่งต้ว ทั้งหมด 45 แห่ง ที่ที่ศรีราชาคือ เม่งเต็งเซี่ยงตั๊ว เรียกได้ว่าเป็รครั้งแรก และเป็นผู้ที่เริ่มพีธีสร้างป่าช้าขึ้นในเมืองไทยเป็นแห่งแรกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูล จาก  ชมรมคนรักศรีราชา












«
Next
บทความใหม่กว่า
»
Previous
บทความที่เก่ากว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

Leave a Reply